พระธาตุบังพวน

พระธาตุบังพวน  เป็นพระธาตุเจดีย์ที่เก่าแก่และสำคัญยิ่งของจังหวัดหนองคาย  และเป็นพระธาตุที่
                   ตามตำนานอุรังคธาตุกล่าวว่า  พระยาสุวรรณภิงคาร เจ้าเมืองหนองหาน สกลนคร  พระยาคำแดง เจ้าเมืองหนองหารน้อย อุดรธานี  พระยาจุลณี พรหมทัต เจ้าเมืองจุลณี (ลาวเหนือ) พระยาอินทปัตนคร เจ้าเมืองอินทปัตนนนคร (เขมร) และพระยานันทเสน เจ้าเมืองศรีโคตรบูรณ์หลวง (ตรงข้ามนครพนม) ได้ร่วมกันอุปถัมภ์ พระมหากัสสเถระ พร้อมด้วยพระอรหันต์ อีก 500 องค์  ทำการก่อสร้างพระธาตุพนม แล้วเสร็จ  และได้บรรลุพระอรหันต์ด้วยกันทั้งหมด  ต่อมาได้เดินทางไปสู่แดนพุทธภูมิ  เพื่อไปอัญเชิญ พระบรมสารีริกธาตุ ของพระพุทธเจ้า 45 พระองค์  นำมาประดิษฐานไว้ ณ สถานที่ 4 แห่งคือ  บริเวณเมืองหนองคาย และเมืองเวียงจันทน์  หนึ่งในสี่แห่งนั้น คือพระธาตุบังพวน ซึ่งได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาพักที่ร่มไม้ปาแป้ง (ไม้โพธิ) ณ ภูเขาหลวง อันเป็นที่ตั้งพระเจดีย์ พระธาตุบังพวนปัจจุบัน
                 จากการสำรวจทางโบราณคดีพบว่า  พระธาตุบังพวนได้มีการก่อสร้างสืบเนื่องกันมาสามสมัย คือ ฐานเดิมสร้างด้วยศิลาแลง  ชั้นที่สองสร้างด้วยอิฐครอบชั้นแรก  และต่อมาได้มีการก่อสร้างให้มีขนาดสูงใหญ่ขึ้น  จากจารึกที่ฐานพระพุทธรูปที่ขุดได้ 4 องค์ ในจำนวนทั้งหมด 6 องค์ ระบุศักราชที่สร้างไว้  ซึ่งตรงกับ  พ.ศ. 2118  พ.ศ. 2150  พ.ศ. 2158 และ พ.ศ. 2167  และข้อความในจารึกเมื่อ พ.ศ. 2167  มีประวัติในการสร้าง โดยได้กล่าวถึงพระเจ้าโพธิสาลราช  ซึ่งเป็นกษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านช้าง มีราชธานีอยู่ที่นครเชียงทอง  ซึ่งก็ตรงกับรูปแบบการก่อสร้างโบราณสถานในบริเวณวัดพระธาตุบังพวน  ที่แสดงถึงอิทธิพลของอาณาจักรล้านช้าง
                   พระธาตุบังพวนเป็นพระสถูปเจดีย์  ทรงเรือนปราสาทสี่เหลี่ยม  เป็นองค์ประธานซึ่งมีชื่ออยู่ในศิลาจารึกว่า พระธาตุบังพวนพระเจดีย์ศรีสัตตมหาทาน  ภายในวัดมีกลุ่มพระธาตุขนาดต่าง ๆ อีก 15 องค์  สันนิษฐานว่า คงจะสร้างในสมัยใกล้เคียงกันกับพระธาตุบังพวน  มีวิหาร 3 หลัง  อุโบสถ 1 หลัง  สระน้ำ และบ่อน้ำโบราณ  นอกจากนั้นยังมีโบราณสถานอีกกลุ่มหนึ่ง ภายในบริเวณเดียวกัน เรียกว่า สัตตมหาสถาน  อันเป็นสถานที่ ที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธประวัติ  เมื่อครั้งแรกตรัสรู้ พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณที่พุทธคยา  ประเทศอินเดีย  สัตตมหาสถานที่สร้างขึ้นมาภายหลัง มีอยู่ 3 แห่งอยู่ ที่ประเทศพม่าหนึ่งแห่ง และที่ประเทศไทยสองแห่ง  คือที่วัดเจ็ดยอด จังหวัดเชียงใหม่  และที่วัดพระธาตุบังพวน จังหวัดหนองคายแห่งนี้ นอกจากนี้ยังมีเจดีย์ สัตตสถานที่วัดพระธาตุบังพวนยังมีครบถ้วนทั้งเจ็ดองค์ และมีแผนที่ตั้งเหมือนกันกับที่พุทธคยา
                พระธาตุบังพวน  ซึ่งสร้างมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรล้านช้าง และได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ในสมัยต่อมา แต่ไม่ต่อเนื่องนัก  ในระยะหลังจึงทรุดโทรมมาก และได้พังทะลายลงมา เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2513  กรมศิลปากรจึงได้ดำเนินการบูรณขึ้นใหม่  โดยก่อคอนกรีตเสริมฐานเดิม  ซึ่งที่ฐานล่างเป็นศิลาแลง ต่อมาเป็นฐานทักษิณ 3 ชั้น บัวคว่ำ 2 ชั้น  ต่อด้วยปรางค์สี่เหลี่ยมบัวปากระฆัง  บัวสายรัด 3 ชั้น รับดวงปลีบัวตูม  แล้วตั้งฉัตร 5 ชั้น  ฐานล่างรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส  กว้างด้านละประมาณสิบเจ็ดเมตร  สูงถึงยอดฉัตรประมาณสามสิบสี่เมตร  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมทั้ง สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์  ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธาน และร่วมยกฉัตรสู่ยอดพระธาตุบังพวน เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2521
การเดินทางไปวัด
    วัดพระธาตุบังพวนตั้งอยู่ที่ตำบลพระธาตุบังพวน อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย จากหนองคายไปตามทางหลวงหมายเลข 2 (หนองคาย อุดรธานี) แล้วแยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 211 ทางไปอำเภอท่าบ่อ ถึงกิโลเมตรที่ 10 วัดอยู่ด้านขวามือ (หนังสือ 1009 ทางบุญ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย)



สำคัญองค์หนึ่งของภาคอีสาน  ประดิษฐานอยู่ ณ บ้านพระธาตุบังพวน  ตำบลพระธาตุบังพวน  อำเภอเมือง  จังหวัดหนองคาย

Written by : โครงการวิจัยรูปแบบและกระบวนการจัดการท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนาฯ

เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อนำเสนอข้อมูลบางส่วนของงานวิจัยรูปแบบและกระบวนการจัดการท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ:กระบวนการเปลี่ยนแปลง “เส้นทางบุญ “สู่” เส้นทางธรรม หากท่านใดมีความประสงค์จะสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับงานวิจัยสามารถติดต่อได้.

Join Me On: Facebook | Twitter | Google Plus :: ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยมชม ! ::

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น