Home » » ความสำคัญ และที่มาของปัญหา

ความสำคัญ และที่มาของปัญหา


        ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาประเทศไทยได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม
        การท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติ การบริการ ศิลปวัฒนธรรมและจารีตประเพณีเป็นต้นทุนในการดำเนินการและเพื่อสร้างความดึงดูดใจของนักท่องเที่ยว ซึ่งในประเทศไทยมีทรัพยากรการท่องเที่ยวที่หลากหลาย สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ตามลักษณะและความสนใจของนักท่องเที่ยว คือ  1) ประเภทธรรมชาติ เช่น ทะเล น้ำตก ชายหาด เกาะ อุทยานแห่งชาติ เป็นต้น 2) ประเภทประวัติศาสตร์ โบราณวัตถุสถานและศาสนา เช่น วัด อุทยานประวัติศาสตร์ 3) ประเภทศิลปวัฒนธรรม ประเพณีและกิจกรรม คือ รูปแบบการดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคม เช่น ตลาดน้ำ งานประเพณีลอยกระทง สงกรานต์ เป็นต้น
        ทรัพยากรการท่องเที่ยวประเภทประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมนั้น  เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าของชนชาติที่สะท้อนให้เห็นถึงอารยธรรม ภูมิปัญญา วิถีชีวิต และเทคโนโลยีการจัดการของผู้คนในสังคมเป็นแหล่งรวมศิลปวิทยาการในสาขาต่างๆ ทั้งในด้านโบราณคดี วัฒนธรรม จารีตประเพณี  สถาปัตยกรรม ศิลปกรรม ฯลฯ ทรัพยากรการท่องเที่ยวโดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวประเภทวัดนั้น นับว่ามีคุณค่าและมีบทบาทที่สำคัญยิ่ง เพราะวัดเป็นแหล่งที่เชื่อมโยงเรื่องราวความเป็นมาของวัฒนธรรมกับชุมชนและเป็นสถานที่รวบรวมมรดกศิลปวัฒนธรรม และศิลปกรรมอันวิจิตรงดงามเพียบพร้อมด้วยคุณค่าทางศิลปะที่แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาและความเป็นอัจฉริยะของบรรพบุรุษ อันเปรียบเสมือนสะพานเชื่อมโยงสายใยของอดีตกับปัจจุบันไม่ให้ขาดออกจากกัน นอกจากนี้ วัดบางแห่งยังประกอบด้วยสภาพแวดล้อมทั้งทางภูมิสถาปัตยกรรมและทางธรรมชาติที่สวยงาม วัดจึงเป็นทรัพยากรการท่องเที่ยวที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และมีคุณค่าทางศิลปะที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจ 
        ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งให้ความสนใจต่อการท่องเที่ยวเชิงพุทธและการเรียนรู้ที่เป็นการเดินทางเพื่อการศึกษาและแสวงหาคุณค่าทางด้านคุณธรรม/จริยธรรม และคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรม อันนำไปสู่การประพฤติปฏิบัติในแนวทางที่ถูกต้องทั้งแก่เพื่อนมนุษย์และต่อสิ่งแวดล้อมในลักษณะที่ก่อให้เกิดประโยชน์เกื้อกูลต่อกันและกัน กอปรในช่วงที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และกรุงเทพมหานคร ได้มีการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในลักษณะต่างๆ เช่น กิจกรรมการท่องเที่ยวไหว้พระ 9 วัด การไหว้พระประจำวันเกิดปีเกิด การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพโดยเน้นการฝึกสมาธิทางพุทธศาสนา เป็นต้น เพื่อส่งเสริมให้ผู้ที่สนใจได้เรียนรู้ทางประวัติศาสตร์และพุทธศาสนาอันจะนำไปสู่การประพฤติปฏิบัติที่ดีงาม ซึ่งกิจกรรมการท่องเที่ยวแนวดังกล่าว ได้รับความสนใจและการตอบรับจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างดี
        อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงการขยายตัวของการท่องเที่ยวในประเทศ ทำให้สภาพแวดล้อมในแหล่งท่องเที่ยวมีความเสื่อมโทรมลง ก่อให้เกิดผลกระทบในทางลบตามมา ทั้งผลกระทบทางกายภาพ เช่น ปัญหาความเสื่อมโทรมของแหล่งท่องเที่ยว  และผลกระทบทางสังคมและวัฒนธรรม เช่น ปัญหาค่าครองชีพ เพศพาณิชย์ ฯลฯ ซึ่งเป็นปัญหาที่มีให้เห็นในแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ และได้ส่งผลกระทบถึงวัด  โดยเฉพาะวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว อันได้แก่  ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสภาพแวดล้อมภายในวัด และการละเลยด้านการให้คุณค่าทางด้านศิลปวัฒนธรรมที่มีค่าอยู่ในตัวเองของแหล่งท่องเที่ยว ตลอดถึงการสร้างคุณค่าทางจริยธรรมเพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์ที่มีค่าในการท่องเที่ยววัด
    อนึ่ง วัดที่เป็นสถานที่ศึกษาเรียนรู้และเป็นแหล่งท่องเที่ยวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสานนั้น จะมีรูปแบบหรือมีความสัมพันธ์กับ “เส้นทางบุญ” คือ การเดินทางเพื่อไปไหว้พระสวดมนต์ ถวายผ้าป่า กฐิน ของพุทธศาสนิกชน กับการศึกษาปฏิบัติใน “เส้นทางธรรม” คือ การเรียนรู้ด้านการปฏิบัติธรรมตามพระเกจิอาจารย์สายวัดป่า เช่น วัดป่านานาชาติ ที่จังหวัดอุบลราชธานี วัดหนองหมากเป้ง ที่จังหวัดหนองคาย เป็นต้น  ซึ่งแนวทางดังกล่าวสามารถนำไปสู่การพัฒนาเพื่อให้เกิดความยั่งยืนของการเรียนรู้ การพัฒนาการท่องเที่ยว และการอนุรักษ์โบราณวัตถุ โบราณสถานอันเป็นสมบัติของชาติได้  และถ้าหากวัดที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวได้มีการดำเนินการในลักษณะของการเสริมสร้างคุณค่าของการเรียนรู้ การพัฒนาศักยภาพในการจัดการและการส่งเสริมให้ประชาชน ชุมชน และผู้ประกอบการท่องเที่ยวมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยว และการจัดรูปแบบกิจกรรมการท่องเที่ยวที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ทางพระพุทธศาสนา รวมทั้งการเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวประเภทวัดเข้าด้วยกัน ก็นับว่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการศึกษาเรียนรู้ของผู้ที่สนใจ และนักท่องเที่ยว อีกทั้งยังจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวในเชิงวัฒนธรรมที่มีความเหมาะสมกับการเรียนรู้ในทางพุทธศาสนา ประวัติศาสตร์ และศิลปวัฒนธรรมของชาติอันจะเป็นการพัฒนาจิตใจและปัญญาสืบต่อไป
    จากสถานการณ์ดังกล่าว คณะผู้ศึกษาวิจัย จึงสนใจที่จะศึกษาถึงแนวทางการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวประเภทวัดในภาคอีสานที่มีความสำคัญทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ มรดกศิลปวัฒนธรรม และการเรียนรู้ตามแนวพระพุทธศาสนา โดยจะศึกษาและวิเคราะห์ถึงรูปแบบ กระบวนการจัดการท่องเที่ยวของวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการวิเคราะห์ผลกระทบจากท่องเที่ยวที่มีต่อวัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนา จะทำให้ทราบถึงแนวทางการพัฒนาท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนาที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรม และการเรียนรู้ทางพระพุทธศาสนาในลักษณะที่ว่า “เที่ยวไทยให้ถึงธรรม”

6. วัตถุประสงค์ของการวิจัย
    1. เพื่อศึกษารูปแบบ กิจกรรม อัตลักษณ์ และกระบวนการท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
    2. เพื่อศึกษาพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวและกระบวนการส่งเสริมการเรียนรู้และการสื่อสารคุณค่าของแหล่งท่องเที่ยวประเภทวัดที่มีความสัมพันธ์กับกระบวนการเปลี่ยนแปลงจากเส้นทางบุญสู่เส้นทางธรรม
    3. เพื่อศึกษาเส้นทางและประเมินทรัพยากรการท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนา รวมทั้งแนวทางการส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
    4. เพื่อศึกษาวิเคราะห์สภาพปัญหาและผลกระทบของการท่องเที่ยวที่มีต่อวิถีชีวิตและวัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

7. ขอบเขตของการวิจัย ในการศึกษาครั้งนี้ คณะผู้วิจัยได้กำหนดขอบเขตการวิจัย ดังนี้
        7.1 ขอบเขตการศึกษาด้านพื้นที่ เนื่องจากเป็นการศึกษาวิจัยในลักษณะของการส่งเสริมการเรียนรู้และการเชื่อมโยงเครือข่ายการเรียนรู้ของวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น คณะผู้วิจัยจึงกำหนดพื้นที่ในรูปแบบของพื้นที่กรณีศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีเกณฑ์ดังนี้
        1) เป็นวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมที่มีความสำคัญในระดับสูงทั้งในระดับชุมชนและประเทศหรือเป็นสถานที่ส่งเสริมการเรียนรู้และปฏิบัติธรรมตามหลักการทางพระพุทธศาสนา โดยมีโครงการ/กิจกรรมที่แสดงถึงการส่งเสริมการเรียนรู้แก่นักท่องเที่ยวที่เป็นรูปธรรม
        2) เป็นวัดที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ ที่เชื่อมโยงกับวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ  และเชื่อมโยงกับเส้นทางการท่องเที่ยวประเภทอื่นๆ ในเขตพื้นที่เดียวกัน
        3) เป็นวัดที่มีกระบวนการส่งเสริมการเรียนรู้และกระบวนการสื่อสารคุณค่าเพื่อการพัฒนาจิตใจในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้การส่งเสริมการเรียนรู้ของบุคคลและสังคม โดยมีกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาเป็นพื้นฐาน และมีการดำเนินการเกี่ยวกับเรียนรู้ การฝึกฝนตามหลักพระพุทธศาสนา  ซึ่งคณะผู้วิจัยกำหนดจำนวนวัด 25-30 วัด โดยจำแนกเป็นกลุ่มต่างๆ  ดังนี้
        1) กลุ่มวัดที่มีกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงวัตถุธรรมที่เน้นความสวยงามของวัด พุทธศิลป์ เช่น วัดธาตุพนม จ.นครพนม เป็นต้น
        2) กลุ่มวัดที่มีกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงประเพณี วัฒนธรรม โดยเน้นการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม เช่น วัดพระธาตุเชิงชุม จ.สกลนคร เป็นต้น
        3) กลุ่มวัดที่เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์ ชุมชน และพระพุทธศาสนา เช่น วัดพระธาตุหนองแวง จ.ขอนแก่น  เป็นต้น
        4) กลุ่มวัดที่เน้นการปฏิบัติธรรมตามหลักพุทธศาสนา เช่น วัดป่านานาชาติ จ.อุบลราชธานี วัดหนองหมากเป้ง จ.อุดรธานี และวัดที่เป็นสำนักปฏิบัติธรรมในแต่ละจังหวัด เป็นต้น
        7.2 ขอบเขตด้านเนื้อหา
        1) ศึกษารูปแบบ อัตลักษณ์ และกระบวนการเรียนรู้ของแหล่งท่องเที่ยวประเภทวัด โดยเน้นรูปแบบและกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมทั้งในด้านรูปธรรมหรือด้านพุทธศิลป์  กิจกรรม วัฒนธรรมประเพณีทางพระพุทธศาสนา และในด้านนามธรรม คือ ความรู้เกี่ยวกับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา เป็นต้น
        2) ศึกษาพฤติกรรมนักท่องเที่ยว และศึกษากระบวนการสื่อสารเพื่อเสริมสร้างคุณค่าและการพัฒนาจิตใจแก่นักท่องเที่ยว โดยเน้นการสื่อสารคุณค่าทางพุทธธรรม และวิถีการปฏิบัติเกี่ยวกับการพัฒนาจิตใจตามหลักการทางพระพุทธศาสนา เช่น การปฏิบัติสมาธิ วิปัสสนาเพื่อความเจริญด้านจิตใจและปัญญา
        3) ศึกษาเส้นทางและประเมินทรัพยากรแหล่งท่องเที่ยวประเภทวัด โดยมุ่งเน้นการเชื่อมโยงคน (พระสงฆ์ ผู้ที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานรัฐ) ความรู้ (ความรู้และคุณค่า) และกระบวนการที่มีการทำกิจกรรมร่วมกัน
        4) ศึกษาขีดความสามารถในการรองรับ (carrying capacity) ในมิติต่างๆ เช่น การรองรับด้านกายภาพ นิเวศวิทยา ด้านสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจในระดับชุมชนท้องถิ่น
        5) การศึกษาการมีส่วนร่วมของวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในมิติของการจัดการเรียนรู้ กระบวนการสื่อสารคุณค่า การพัฒนาจิตใจ และการเสริมสร้างกระบวนการเครือข่ายการเรียนรู้ในมิติต่างๆ ร่วมกัน
        6) การศึกษาสภาพปัญหา อุปสรรค และผลกระทบจากการท่องเที่ยวที่มีต่อวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว รวมทั้งแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวที่มีความเหมาะสมกับแหล่งท่องเที่ยวประเภทวัด
    7.3 ขอบเขตด้านประชากร ได้แก่ พระสงฆ์ ตัวแทนของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวทุกฝ่าย ประกอบด้วย ผู้นำชาวบ้านในชุมชน นักวิชาการ ผู้บริหารของการท่องเที่ยวภาครัฐและภาคเอกชน ประกอบด้วย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาคมมัคคุเทศก์ประจำจังหวัด บริษัทท่องเที่ยวเอกชน นักวิชาการด้านการท่องเที่ยว ตลอดถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการท่องเที่ยวในจังหวัดทั้งภาครัฐและเอกชน โดยกำหนดกลุ่มตัวอย่าง 2 ประเภท ได้แก่
        1) เจ้าอาวาส คณะสงฆ์ พระเถระผู้ใหญ่ ตัวแทนวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการท่องเที่ยว การส่งเสริมการเรียนรู้ภายในวัดและหน่วยงานที่เป็นกรณีศึกษา โดยจากการศึกษาในเบื้องต้นพบว่า แต่ละวัดจะมีพระสงฆ์ และบุคคลผู้ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมการเรียนรู้ในมิติต่างๆ ประมาณวัดละ 5-10 รูป/คน ดังนั้น คณะผู้ศึกษาจะใช้เป็นประชากรในการศึกษาทั้งหมด
        ส่วนผู้ประกอบการนำเที่ยว ชุมชน ภาคเอกชน และตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ จะกำหนดกลุ่มประชากรรวม 50 คน/โครงการย่อย โดยการจัดประชุมสัมมนาร่วมกัน
        2) นักท่องเที่ยว และผู้ประกอบการท่องเที่ยว เป็นการศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างจากนักท่องเที่ยวหรือผู้ที่ได้ฝึกปฏิบัติตามหลักการทางพระพุทธศาสนาและผู้ที่เดินทางท่องเที่ยวภายในวัดดังกล่าว เป็นนักท่องเที่ยวชาวไทยจำนวน 200 คน/โครงการ และนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศจำนวน 200 คน/โครงการ  รวมจำนวน 400 คน/โครงการ

ของประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้า โดยมุ่งเน้นการแสวงหาและใช้ต้นทุนทางสังคม ทรัพยากรธรรมชาติ และทุนทางวัฒนธรรมเป็นเครื่องมือในการพัฒนา อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้เป็นกลยุทธ์และแนวทางการพัฒนาประการหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ในการพัฒนาประเทศ ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ  คือ เป็นกิจกรรมที่สามารถสร้างรายได้ในเชิงมูลค่าทางเศรษฐกิจเป็นจำนวนมาก และเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างสรรค์ในเชิงคุณค่าทางสังคม วัฒนธรรม และการเรียนรู้ ดังจะเห็นได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่เดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี  โดยเฉพาะในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจากจำนวน 10.0 ล้านคนในปี 2546  เพิ่มเป็น 13.82  ล้านคนในปี 2549 และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกับการเดินทางท่องเที่ยวของคนในประเทศก็มีการเดินทางท่องเที่ยวในรูปแบบต่างๆ โดยมีจำนวนที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งสามารถสร้างรายได้จำนวนมหาศาลมาสู่ประเทศ

Written by : โครงการวิจัยรูปแบบและกระบวนการจัดการท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนาฯ

เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อนำเสนอข้อมูลบางส่วนของงานวิจัยรูปแบบและกระบวนการจัดการท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ:กระบวนการเปลี่ยนแปลง “เส้นทางบุญ “สู่” เส้นทางธรรม หากท่านใดมีความประสงค์จะสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับงานวิจัยสามารถติดต่อได้.

Join Me On: Facebook | Twitter | Google Plus :: ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยมชม ! ::

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น