วัดโพธิ์ชัย

    วัดโพธิ์ชัย  เดิมเป็นวัดเก่าแก่และมีความสำคัญแห่งจังหวัดหนองคาย  เนื่องจากเป็นที่ประดิษฐาน
หลวงพ่อพระใสอันศักดิ์สิทธิ์ ถือเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองทีมีตำนานผูกพันกับทั้งชาวไทย และชาวลาวในประวัติศาสตร์ เป็นสิ่งที่เคารพสักการะอย่างสูงสุดของชาวหนองคาย และผู้คนลุ่มน้ำโขงแห่งนี้
              องค์หลวงพ่อพระใสนั้น  เป็นพระพุทธรูปขัดสมาธิราบปางมารวิชัย  หล่อด้วยทองสุกอันเป็นเนื้อทองคำ  92 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมีพระพุทธลักษณะอันงดงาม  มีตำนานที่เล่าสืบต่อกันมาถึงประวัติของหลวงพ่อพระใสว่าสร้างขึ้นโดยพระธิดา  3 องค์ ของพระไชยเชษฐาธิราช  กษัตริย์แห่งล้านช้างซึ่งได้หล่อพระพุทธรูปขึ้น 3 องค์ และขนานนามพระพุทธรูปตามนามของตนเองไว้ด้วยว่า  พระสุกประจำพระธิดาคนโต  พระเสริมประจำพระธิดาคนกลาง พระใสประจำพระธิดาคนสุดท้อง ซึ่งมีขนาดลดหลั่นกันตามลำดับ
                เดิมทีพระพุทธรูปทั้งสามองค์ประดิษฐานอยู่ที่เวียงจันทน์  เมื่อสมเด็จพระบวรเจ้ามหาศักดิ์พลเสพย์ได้เป็นจอมทัพยกพลมาปราบกบฏ เจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ ในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  จึงได้อัญเชิญพระสุก พระเสริม และพระใส  ข้ามแม่น้ำโขงมายังฝั่งไทย  เล่ากันว่าในขณะลำเลียงพระพุทธรูปมาตามแม่น้ำถึงตรงบ้านเวินแท่นได้เกิดพายุลมแรงเป็นอัศจรรย์ทำให้พระสุกแหกแพถูกจมหายไป  และจมอยู่ใต้น้ำมาจนถึงปัจจุบัน  ชาวบ้านจึงเรียกบริเวณนั้นว่า เวินสุก  ส่วนองค์พระเสริม และพระใสนั้นได้ถูกอัญเชิญขึ้นมาประดิษฐานไว้ที่เมืองหนองคายในครั้งแรก  พระเสริมได้ถูกอัญเชิญประดิษฐานที่วัดโพธิ์ชัย  ส่วนพระใสได้ถูกอัญเชิญประดิษฐานที่วัดหอก่อง หรือในปัจจุบันเรียกว่าวัดประดิษฐ์ธรรมคุณ  ต่อมารัชกาลที่ 4 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธรูปทั้งสองนั้นไปประดิษฐานที่พระนคร แต่เมื่อเกวียนหลวงพ่อพระใสมาถึงวัดโพธิ์ชัยก็เกิดปาฏิหาริย์จนเกวียนหักไม่สามารถไปต่อได้อีกจึงได้แต่อัญเชิญพระเสริมไปประดิษฐานไว้ที่วัดปทุมวนาราม  ส่วนหลวงพ่อพระใสได้ถูกอัญเชิญมาประดิษฐาน ณ วัดโพธิ์ชัย  จึงเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองหนองคายมาจนถึงปัจจุบันซึ่งชาวบ้านหนองคายได้พากันขนานนามหลวงพ่อพระใสว่า หลวงพ่อเกวียนหักอีกด้วย

การเดินทางไปวัด
    วัดโพธิ์ชัย ตั้งอยู่ ถนนโพธิ์ชัย เทศบาลเมือง  จังหวัดหนองคาย อยู่ห่างจากตัวเมืองไปราว  2  กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข  212

Written by : โครงการวิจัยรูปแบบและกระบวนการจัดการท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนาฯ

เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อนำเสนอข้อมูลบางส่วนของงานวิจัยรูปแบบและกระบวนการจัดการท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ:กระบวนการเปลี่ยนแปลง “เส้นทางบุญ “สู่” เส้นทางธรรม หากท่านใดมีความประสงค์จะสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับงานวิจัยสามารถติดต่อได้.

Join Me On: Facebook | Twitter | Google Plus :: ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยมชม ! ::

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น