Home » » กิจกรรมของวัดพระธาตุพนม

กิจกรรมของวัดพระธาตุพนม

1.กิจกรรมทางพุทธศาสนา
          1.1งานนมัสการองค์พระธาตุพนมประจำปี
                ตรงกับวันขึ้น 10 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี มีกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาดังนี้ พิธีอัญเชิญพระอุปคุตจากแม่น้ำโขง ไหว้พระสวดมนต์ สมาทานศีล  ฟังพระธรรมเทศนา  ตักบาตรคู่อายุ  แห่กองบุญถวายพระธาตุพนม ห่มผ้าพระธาตุ เวียนเทียนรอบองค์พระธาตุ 

            1.2 งานวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
                  วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ได้แก่ วันมาฆบูชา ขึ้น 15 เดือน 3 วันวิสาขบูชา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6   วันอัฏฐมีบูชา แรม 8 ค่ำ เดือน 6    วันอาสาฬบูชา ขึ้น 15 เดือน 8  วันเข้าพรรษา แรม 1 ค่ำ เดือน 8   วันออกพรรษา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11  วันตักบาตรเทโวโรหนะ แรม 1 ค่ำ เดือน 11  
           1.3 งานปฏิบัติบูชา ณ พระธาตุพนม ในช่วงเข้าพรรษา 3 เดือน
                   องค์พระธาตุพนมเป็นสถานที่บำเพ็ญบุญเจริญจิตภาวนาดังนั้นในช่วงเข้าพรรษา 3 เดือนมีพุทธศาสนิกชนทั่วไปมาบำเพ็ญภาวนาในวันพระ 8  ค่ำและวันพระ 15  ค่ำ ทั้งข้างขึ้นและข้างแรม ตลอดพรรษา 3 เดือน นอนบริเวณหน้าองค์พระธาตุ หรือบริเวณวิหารคตรอบองค์พระธาตุ บางคนบำเพ็ญเพียรภาวนาหน้าองค์พระธาตุทั้งคืน ระหว่างเข้าพรรษามีประชาชนมาเจริญจิตภาวนาค้างคืนประมาณ 50 คน
            1.4 การสวดมนต์ข้ามปี  
                วัดพระธาตุพนมเป็นที่มหาเถรสมาคมมีมติเห็นชอบให้จัดพิธีสวดมนต์ข้ามปี ทำความดี ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ เป็นประจำทุกปี ในงานมีพระสงฆ์เป็นผู้นำในการสวดมนต์ ประโยชน์ของการสวดมนต์คือทำให้จิตรวมเป็นหนึ่งเป็นการฝึกสมาธิในขณะที่สวดทำให้ผู้สวดได้สติปัญญา ละโลภ โกรธ หลง ในขณะสวดมนต์ เป็นการเสริมสร้างศิริมงคล แก่ตนเอง ดำเนินชีวิตอย่างมีสติ  บำบัดโรคเซื่องซึม  ทำให้เกิดพลัง สดชื่นกระฉับกระเฉงเหนือสิ่งอื่นใดได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า คือพระอุรังคธาตุของพระพุทธเจ้า  จัดงานวันที่ 31 ธันวาคม ของทุกปี

2.  กิจกรรมทางประเพณี
             ประเพณีในประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาล้วนเป็นผลิตผลของพระศาสนา ดังเช่นการรำบูชาถวายองค์พระธาตุ  วัดพระธาตุพนม  1 ปี  มีการรำถวายองค์พระธาตุ 2 ครั้ง คือ วันเปิดงานนมัสการพระธาตุพนมขึ้น10 ค่ำ เดือน 3  และวันออกพรรษาขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11  และความศรัทธาต่อองค์พระธาตุเชื่อมโยงไปยังปีเกิดของประชาชน ดังนั้นพระธาตุพนมจึงเป็นพระธาตุประจำปีของผู้ที่เกิดปีวอก และเป็น 1 ในเส้นทางไหว้พระธาตุประจำวันเกิดของผู้ที่เกิดวันอาทิตย์เชื่อว่าผู้ใดได้ไปนมัสการจะได้รับอานิสงส์มีผู้คนให้ความเคารพนับถือ 
              2.1 การรำบูชาถวายพระธาตุพนม 
               การรำบูชาถวายองค์พระธาตุ จัดในวันเปิดงานนมัสการพระธาตุพนมเป็นประเพณีมีมานาน เป็นการแสดงความสามัคคีของ 7 ชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในจังหวัดนครพนมประกอบด้วยเผ่าไทย้อ,ภูไท,ไทแสก,ไทโส้,ไทกะเลิง,ไทข่า,ไทยอีสาน, ทุกเผ่ามีจุดศูนย์รวมจิตใจคือองค์พระธาตุ ชนเผ่าต่างๆแต่งกายด้วยเสื้อผ้าประจำเผ่าของตนถ่ายทอดความเคารพศรัทธาต่อองค์พระธาตุผ่านการร่ายรำในท่วงท่าอันงดงามเพื่อบูชาองค์พระธาตุพนม การร่ายรำเป็นสื่อให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ทราบถึงการบูชาอย่างยิ่งใหญ่บวกกับความเชื่อว่าการรำถวายเป็นการถวายมือและแขนแด่พระธาตุกุศลแรงเป็นการแสดงความเคารพอย่างสูง  การรำบูชา จัดขึ้น ณ บริเวณหน้าองค์พระธาตุพนม โดยมีคณะสงฆ์และพุทธศาสนิกชนชาวจังหวัดนครพนม ร่วมจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี   ในงานได้มีพิธีแห่เครื่องสักการะโดยข้าราชการ พ่อค้า และประชาชน ได้ร่วมแห่และกล่าวคำบูชาไหว้พระธาตุพนม หลังจากนั้น ได้จัดชุดรำบูชาพระธาตุพนม 7 ชุด คือ (1)รำตำนานพระธาตุพนม (2) รำศรีโคตรบูรณ์ (3)รำผู้ไท (4)รำหางนกยูง (5) รำไทยญ้อ (6) รำขันหมากเบ็ง และ(7)รำเซิ้งอีสาน
              การรำถวายพระธาตุพนมจัดขึ้นในวันออกพรรษา 15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นการฟ้อนรำต้อนรับพระพุทธเจ้าที่เสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์หลังจากออกพรรษาแล้ว มีหลักฐานบันทึกไว้ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาว่า “ในพรรษาที่ 7 พระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปจำพรรษาที่สวรรค์ชั้นดาวดีงส์เพื่อแสดงธรรมโปรดพุทธมารดาและจำพรรษาเป็นเวลา 3 เดือน  ประชาชนชาวชมพูทวีปได้รอคอยการเสด็จกลับจากดาวดึงส์ของพระพุทธเจ้า และเมื่อออกพรรษาเรียบร้อยแล้วพระพุทธเจ้าเสด็จลงมาทางประตูเมืองสังกัสสนคร โดยมีพระพรหม พระอินทร์ เทวดา ตามมาส่งถึงเมืองมนุษย์ ในขบวนเสด็จนั้นปรากฏเทพบุตรตนหนึ่งถือพินดีดเป็นเพลงบรรเลงนำหน้าพระพุทธเจ้า”(ธรรมบท:105.2523)  อาศัยแนวคิดนี้จึงนำมาสู่การ   การรำบูชาองค์พระธาตุในวันออกพรรษา นับได้ว่าเป็นผลผลิตทางพระพุทธศาสนาของศาสนิก การรำบูชาถวายองค์พระธาตุนอกจากจะได้บุญกุศลแล้วยังเป็นการสอนธรรมะทางพระพุทธศาสนาอีกด้วยคือ ความสามัคคี ดังคำบาลีว่า “สุขา  สงฺฆสฺส  สามคฺคี”ถอดความเป็นภาษาไทยว่า “ความสามัคคีของหมู่คณะนำความสุขมาให้”ดังนั้น การรำบูชาถวายองค์พระธาตุนี้ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดนครพนม มีประชาชนและนักท่องเที่ยวจากหลายจังหวัด มาเที่ยวชมประเพณีรำบูชาประธาตุพนม จำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีการละเล่นพื้นเมืองของเผ่าต่างๆ
          2.2 ประเพณีฮีต 12
                  หมายถึงประเพณีที่ชาวตะวันออกเฉียงเหนือจะต้องปฏิบัติในรอบ 12  เดือน  คือ1.บุญเข้ากรรม 2.บุญคูณลาน 3.บุญข้าวจี่ 4.บุญผะเหวด 5.บุญสงกรานต์ 6.บุญบั้งไฟ 7.บุญซำฮะ 8.บุญเข้าพรรษา9.บุญข้าวประดับดิน 10.บุญข้าวสาก 11.บุญออกพรรษา 12.บุญกฐิน
           2.3 วันสัตตนาคารำลึก
                  เนื่องจากวัดพระธาตุพนมตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขงจึงปรากฏเรื่องราวเกี่ยวกับพญานาคทั้ง 7 ตนมาให้ความเคารพและดูแลพระธาตุพนม ความเชื่อนี้ได้ฝังรากลึกในท้องถิ่นนั้นๆ ก่อให้เกิดประเพณีเกี่ยวกับพญานาค ดังนั้นวัดพระธาตุพนมจึงจัดงานวันรำลึกถึงพญานาคทั้ง 7  ที่ดูแลรักษาองค์พระธาตุพนม ในงานมีพิธีบวงสรวงองค์พระธาตุ พิธีบวงสรวงต้อนรับพญานาคทั้ง 7 องค์ กำหนดจัดงานในวันขึ้น 5  ค่ำ เดือน 11ของทุกปี เหตุผลที่กำหนดวันเวลาดังกล่าวนั้นเพราะว่าในพ.ศ.2500วันเวลาดังกล่าวพญานาคมาประทับทรงสามเณร ได้บอกกล่าวในการที่ตนได้รับผิดชอบดูแลองค์พระธาตุมาตั้งแต่เริ่มสร้างองค์พระธาตุ   ดังนั้นเมื่อถึงวันเวลาดังกล่าวทางวัดจึงจัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์  พิธีบวชปฏิบัติธรรมอุทิศส่วนกุศลแด่องค์พญานาคทั้ง 7 องค์ โดยมีโอรสและธิดาของพญานาคเป็นแม่งานร่วมกับพระสงฆ์  ที่ลานพระธาตุพนมตลอดทั้งคืน ดังนั้นงานนมัสการพระธาตุพนมกำหนดตามจันทรคติ คือวันขึ้น 8 ค่ำ ถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 3 เป็นประจำทุกปี ประชาชนจึงทราบเรื่องงานนมัสการพระธาตุพนมโดยช่องทางนี้ 

Written by : โครงการวิจัยรูปแบบและกระบวนการจัดการท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนาฯ

เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อนำเสนอข้อมูลบางส่วนของงานวิจัยรูปแบบและกระบวนการจัดการท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ:กระบวนการเปลี่ยนแปลง “เส้นทางบุญ “สู่” เส้นทางธรรม หากท่านใดมีความประสงค์จะสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับงานวิจัยสามารถติดต่อได้.

Join Me On: Facebook | Twitter | Google Plus :: ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยมชม ! ::

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น