วัดดอนธาตุ

วัดดอนธาตุ    ตั้งอยู่บนเกาะดอนธาตุกลางแม่น้ำมูล ต.ทรายมูล และบ้านคันไร่ อ.พิบูลมังสาหาร
จ.อุบลราชธานี มีเนื้อที่ประมาณ 130 ไร่ ลักษณะยาวรี ตามลำน้ำมูล หัวดอนเกาะอยู่ทิศตะวันออก มองเห็นหมู่บ้านทรายมูล อยู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ สองฝั่งร้องตะโกน ได้ยินถึงกัน ซึ่งเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมและท่องเที่ยวขึ้นชื่อของ จ.อุบลราชธานี วัดแห่งนี้เป็นวัดสุดท้ายที่หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล สร้างขึ้น รวมทั้งยังเป็นวัดสุดท้ายที่หลวงูป่เสาร์อยู่ปฏิบั ติธรรม ก่อนที่จะไปมรณภาพในอิริยาบถนั่งที่วัดมหาอำมาตยาราม อ.วรรณไวทยากรณ์ นครจำปาสัก ประเทศลาว เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2484 สิริรวมอายุ 82 ปี 3 เดือน 1 วัน และได้อัญเชิญศพกลับมาจัดงานฌาปนกิจที่วัดบูรพาราม อ.เมือง จ.อุบลราชธานี โดยทุกๆ ปี ระหว่างวันที่ 2-3 กุมภาพันธ์ จะมีการปฏิบัติธรรมและทำบุญครบรอบคล้ายวันมรณภาพ
     ทุกวันนี้วัดดอนธาตุนอกจากศาสนกิจ ตามปกติธรรมเนียมประเพณีแล้ว ยังมีพิธีทำบุญตามพื้นบ้านโบราณตามฤดูกาล เช่น บุญกวนข้าวทิพย์ บุญเดือนยี่ ซึ่งต้องจัดทำตามกาลกำหนด ขาดมิได้ สามารถเข้ามาปฏิบัติธรรมได้ทุกวัน โดยผู้ที่มาปฏิบัติที่วัดดอนธาตุ ส่วนมากนั้นจะมีพื้นฐานการภาวนามาบ้างแล้ว พระอาจารย์ใหญ่ (ประธานสงฆฺ) จะเน้นการสอนด้วยการปฏิบัติให้ดู แต่สามารถเข้ามาสอบถามข้อสงสัยในการปฏิบัติภาวนากับพระอาจารย์ใหญ่ได้

เจดีย์พิพิธภัณฑ์
     "เจดีย์พิพิธภัณฑ์หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล" ตั้งอยู่ท่ามกลางแมกไม้ใหญ่ ที่ยังรักษาสภาพป่าไม้ธรรมชาติเดิมไว้ ฐานพระเจดีย์เป็นกำแพงหินทรายโดยรอบยกสูง ภายในองค์เจดีย์เป็นห้องพิพิธภัณฑ์ขนาด 9.50x9.50 เมตร มีประตูบานไม้สักหนา 2 นิ้ว เปิดเข้าออกได้ 3 ด้าน คือ ด้านหน้าและด้านข้าง 2 ด้าน  พื้นปูด้วยแกรนิต ผนังภายในห้องกรุด้วยหินทรายสีขาว แสดงถึงความเป็นธรรมชาติ แท่นหินอ่อนสีขาวบริสุทธิ์ เป็นที่ประดิษฐานรูปหล่อของหลวงปู่เสาร์ในท่านั่ง ประดับซ้ายขวาด้วยพานพุ่ม  อยู่ภายใต้ซุ้มด้านหลังองค์พระเจดีย์ เสมือนหลวงปู่นั่งเจริญภาวนาในถ้ำ  โดยรอบพระเจดีย์เป็นลานกว้าง ใช้ปฏิบัติศาสนกิจ เช่น เวียนเทียน และมีทางเชื่อมศาลากับเจดีย์เป็นลานคอนกรีต ที่ยังเก็บรักษาต้นไม้ที่มีอยู่ไว้ จึงมีต้นไม้ใหญ่ผุดขึ้นใ นลาน ดูร่มรื่นและให้บรรยากาศของวัดป่า  เบื้องหน้าพระเจดีย์ทางซ้าย มีกุฏิที่หลวงปู่เสาร์เคยอยู่จำพรรษา เป็นกุฏิไม้เล็กๆ ยกใต้ถุนสูง มีเพียงหนึ่งห้อง และมีระเบียงหน้าห้องยาวตลอด ทางขึ้นเป็นบันไดไม้พาด 3 ชั้น ก้าวห่างๆ ผนังกั้น เป็นผนังไม้ซ้อนทับเกล็ด หลังคามุงด้วยแผ่นไม้ ผ่าเป็นแผ่นยาว ซ้อนทับกัน มีลักษณะง่ายๆ สมถะ

Written by : โครงการวิจัยรูปแบบและกระบวนการจัดการท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนาฯ

เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อนำเสนอข้อมูลบางส่วนของงานวิจัยรูปแบบและกระบวนการจัดการท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ:กระบวนการเปลี่ยนแปลง “เส้นทางบุญ “สู่” เส้นทางธรรม หากท่านใดมีความประสงค์จะสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับงานวิจัยสามารถติดต่อได้.

Join Me On: Facebook | Twitter | Google Plus :: ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยมชม ! ::

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น